เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 ส.ค. พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯกทม. น.ส.อมรรัตน์ กฤตยานุวัตร ผอ.เขตคลองเตย พ.ต.อ.รัฐศักดิ์ รักสลาม ผกก.สน.ทองหล่อ เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักการโยธา กทม. กรมโยธาธิการและผังเมืองกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุมวางแผนการเข้าตรวจค้นร่องที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ "เลอรัฟฟิเน่ คอนโด" คอนโดมิเนียมหรู ในซอยสุขุมวิท 24 เลขที่ 52/1 -52-57 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กทม. (Le Raffine Jambu Dvipa, Sukhumvit 39)
พญ.มาลินี กล่าวว่า จากการตรวจสอบขณะนี้พบว่าเหตุเพลิงไหม้เมื่อวานนี้(17 ส.ค.) มีห้องได้รับความเสียหายเพียง 1 ยูนิต คือห้อง 18เอ ทั้งนี้ ทางสำนักงานเขตคลองเตยได้ติดประกาศห้ามใช้อาคารเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.เนื่องจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ เพื่อให้ทางสำนักการโยธา กทม. กรมโยธาธิการและผังเมืองกระทรวงมหาดไทยเข้าตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุของเพลิงไหม้ในครั้งนี้
พญ.มาลินี กล่าวว่า สำหรับปัญหาเรื่องระบบน้ำที่ใช้ดับเพลิงอัตโนมัติของคอนโดฯนี้ จากการสอบถามผู้จัดการอาคารทราบว่า ใช้ระบบป้องกันเพลิงไหม้แบบระบบวัดความร้อนโดยจะทำงานเมื่ออุณหภูมิสูง 65 องศาเซลเซียส ไม่ได้ใช้ระบบควันแบบในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นอาคารที่สร้างตั้งแต่ปี 2533 และเปิดใช้เมื่อปี 2536 มีอายุกว่า 18 ปี ซึ่งสร้างก่อนที่จะมีกฎหมายบังคับใช้ในการดูแลความปลอดภัยและป้องกันเหตุเพลิงไหม้อาคารสูง แต่ตอนที่เกิดเหตุแม้ระบบดับเพลิงอัตโนมัติจะไม่ทำงานแต่สัญญาณเตือนภัยก็ดังขึ้น ทำให้สามารถแจ้งหน่วยดับเพลิงและอพยพคนในตึกได้ทันท่วงทีถือว่าใช้ได้
“ส่วนเรื่องการตรวจสอบมาตรฐานการดูแลอาคารสูงทั่ว กทม. เราได้มีการสุ่มตรวจเป็นประจำอยู่แล้ว โดยอาคารสูงต่างๆ จะต้องมีระบบป้องกันเหตุเพลิงไหม้ และมีการซักซ้อมดับเพลิงและอพยพผู้อยู่ในอาคารด้วย” พญ.มาลินี กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.รัฐศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้จะต้องมีเรียกสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องรวม 4 กลุ่มคือ 1.กลุ่มนิติบุคคลเจ้าของอาคาร รวมทั้งนายพรภูมิ ตรีบุตรา ผู้จัดการคอนโดฯ ว่ามีการวางระบบดูแลรักษาความปลอดภัยอาคารว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ 2.นางพรรณี เลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของห้อง 3.กลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์และถือเป็นผู้เสียหาย 4.เจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาสาธารณภัย เข้าไปดับเพลิงซึ่งถือเป็นผู้เข้าไปยังห้องต้นเหตุได้ก่อนซึ่งจะสามารถระบุได้ว่าระบบน้ำดับเพลิงอัตโนมัติทำงานได้หรือไม่อย่างไร
ส่วนของการดำเนินคดีการดำเนินคดีจะต้องแบ่งเป็น 2 ส่วนตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวการกระทำการโดยประมาทจนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ซึ่งจะต้องมีการดำเนินคดีกับเจ้าของห้อง และ การดำเนินคดีเกี่ยวกับนิติบุคคลเจ้าของอาคาร ที่ต้องตรวจสอบความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ว่ามีการดูแลระบบรักษาความปลอดภัยถูกต้องแค่ไหน หากพบมีการกระทำผิดต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างแน่นอน ซึ่งหากได้เอกสารสรุปหลักฐานที่ทาง กทม.รวบรวมได้ครบเมื่อใดก็คาดว่าจะสามารถดำเนินคดีได้ภายใน 1 เดือนต่อจากนั้นทันที
ด้านนายพินิต เลิศอุดมธนา ผอ.สำนักการโยธา กทม. กล่าวภายหลังตรวจห้อง 18 เอ ซึ่งเป็นห้องต้นเพลิงว่า จากการตรวจสอบพบว่าเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลต่อโครงสร้างของอาคาร มีเพียงห้องต้นเพลิงที่ได้รับความเสียหายจึงต้องทำการสั่งปิดพื้นที่ส่วนนี้ไว้ก่อนเพื่อให้ผู้รับผิดชอบอาคารเข้าทำการซ่อมแซม โดยเฉพาะพื้นห้องซึ่งอาจส่งผลต่ออาคาร จากนั้นก็ต้องยื่นผลการซ่อมแซมเพื่อให้ทาง กทม.เข้าตรวจสอบก่อนอีกครั้งเพื่ออนุมัติให้เปิดใช้พื้นที่ดังกล่าวต่อไป
ต่อมาเมื่อเวลา 12.45น. เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานที่ขึ้นไปตรวจห้อง 18A ต้นเพลิง พบว่าได้รับความเสียหายเพียงห้องเดียว พร้อมนำชิ้นส่วนซึ่งเป็นแผ่นเหล็ก 1 ชิ้นที่ได้จากห้องที่เกิดเหตุนำไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยสาเหตุของเพลิงไหม้ครั้งนี้ได้ต้องรอผลตรวจสอบก่อน