Friday, October 7, 2011

สิ้นจ็อบส์ Phone4S ไปไม่รอด แอปเปิ้ลตกต่ำ?



เรียกว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดคงไม่ผิดนักสำหรับแอปเปิล เพราะค่ายผลไม้ยักษ์ใหญ่ไอทียังไม่ทันจัดการกับภาวะหุ้นดิ่งเหวหลังการเปิดตัวไอโฟนรุ่นใหม่ iPhone 4S ได้ ก็ต้องมาประกาศข่าวร้ายเรื่องการจากไปของสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ผู้ก่อตั้งบริษัทซึ่งอยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คู่ใจคอไอทีทั่วโลกทั้งไอโฟน ไอแพด ไอพ็อด และคอมพิวเตอร์แมคอินทอช จนเป็นข่าวช็อกโลกเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา

โลกต้องบันทึกว่า 5 ตุลาคม 2011 คือวันที่วงการไอทีโลกสูญเสียบุคลากรคนสำคัญไปอย่างน่าเสียดาย โดยหนึ่งในผู้ก่อตั้งแอปเปิล สตีฟ จ็อบส์นั้นถูกยกย่องให้เป็นศาสดาซึ่งเปลี่ยนแปลงโลกคอมพิวเตอร์-อุตสาหกรรมเพลง-และวงการโทรศัพท์มือถือโลกชนิดพลิกฝ่ามือ และหลังจากฝ่าฟันกับโรคมะเร็งตับอ่อนชนิดพิเศษมานาน 7 ปี ในที่สุดศาสดาจ็อบส์ก็เสียชีวิตแล้วอย่างสงบในบ้านพักที่พาโลอัลโต ในวัย 56 ปี

ทันทีที่ข่าวแพร่สะพัด สาวกแอปเปิลทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ บุคคลที่มีชื่อเสียง ทีมงานแอปเปิล พันธมิตรคู่ค้า หรือแม้แต่คู่แข่งของแอปเปิลต่างแสดงความอาลัยต่อการจากไปของจ็อบส์อย่างพร้อมเพรียง ส่วนใหญ่ยกย่องเทิดทูนจ็อบส์ว่าเป็นอัจฉริยะตัวจริง และเป็นการสูญเสีย"วิสัยทัศน์อเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุด"ระดับตำนานไปอย่างไม่มีวันกลับอย่างที่ Thailand News ได้นำเสนอที่ผ่านๆมา


การเสียชีวิตของจ็อบส์เกิดขึ้นหลังการเปิดตัวไอโฟนรุ่นต่อไป iPhone 4S เพียง 1 วัน ปรากฏว่าบริษัทคู่แข่งแอปเปิลในเอเชียต่างอยู่ในภาวะ "หุ้นพุ่งกระฉูด" ต่อเนื่อง หลังจากที่หุ้นขึ้นไปแล้วรอบหนึ่งในช่วงการเปิดตัว iPhone 4S วันที่ 4 ตุลาคม เนื่องจากการเปิดตัวไอโฟนใหม่นั้นไม่โดนใจนักลงทุนเท่าที่ควร เพราะแอปเปิลเปลี่ยนแปลงไอโฟนเฉพาะที่คุณสมบัติแต่ยังใช้รูปทรงเดิม จึงมีแนวโน้มสูงที่คู่แข่งของแอปเปิลจะสามารถโดนใจตลาดได้มากกว่า

ไม่เผยสาเหตุการตาย

ตอนมีชีวิตอยู่ สตีฟ จ็อบส์ไม่เคยให้รายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของตัวเอง ขณะที่หลังเสียชีวิตแล้ว ปัญหาสุขภาพของจ็อบส์ก็ยังเป็นเรื่องลึกลับที่ไม่มีใครให้ความชัดเจน เรื่องนี้สื่อต่างประเทศยังต้องใช้คำว่า "Cancer likely killed Steve Jobs" ซึ่งไม่ได้ระบุว่ามะเร็งคือสาเหตุที่ทำให้สตีฟจ็อบส์เสียชีวิต 100%

มะเร็งตับอ่อนที่คุกคามสตีฟ จ็อบส์นั้นเป็นชนิดพิเศษที่เติบโตช้ากว่าชนิดปกติ มีชื่อเรียกเป็นทางการว่าเนื้องอกตับอ่อน neuroendocrine ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อฮอร์โมนที่ผลิตภายในตับอ่อนและมีอัตราการเกิดเพียง 2 ถึง 4 คนต่อล้านคนทั่วโลก เบื้องต้น ธรรมชาติของโรคนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เคมีบำบัด ผ่าตัดหรือรังสีรักษาใดๆ รวมถึงการปลูกถ่ายตับ เพราะระยะเวลาแพร่กระจายจะใช้เวลานานเฉลี่ย 7-8 ปี และมีบางกรณีที่ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับเนื้องอกชนิดนี้ได้นานถึง 20 ปี

แต่ไม่ใช่สำหรับจ็อบส์ เพราะความจำเป็นที่ทำให้จ็อบส์ต้องผ่าตัดเปลี่ยนตับเมื่อปี 2009 กลับเป็นสัญญาณร้ายที่แสดงว่าจ็อบส์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคนี้ เพราะมีความเป็นไปได้ที่เซลล์มะเร็งในตัวจ็อบส์จะแพร่กระจายจนทำให้จ็อบส์ต้องรีบรับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ จุดนี้จ็อบส์ไม่เคยให้รายละเอียดถึงการแพร่กระจาย รวมถึงความจำเป็นในการตัดสินใจเปลี่ยนตับใหม่ จุดนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกับสื่อต่างประเทศว่า การเสียชีวิตของจ็อบส์อาจมีแนวโน้มมาจาก 2 สาเหตุ หนึ่งคือมะเร็งตับใหม่ที่ไม่ใช่ตัวดั้งเดิม สองคือภาวะแทรกซ้อนจากยารักษาภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ป้องกันการปฏิเสธอวัยวะ

จ็อบส์นั้นเคยประกาศต่อชาวโลกเมื่อปี 2004 ว่าได้เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งในตับอ่อนจนหายดีแล้ว ก่อนจะออกมาอธิบายเหตุผลที่ร่างกายซูบผอมลงว่าเป็นเพราะภาวะ “ฮอร์โมนไม่สมดุล” ทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วในปี 2008 ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของโรคมะเร็งตับอ่อนที่จ็อบส์เข้ารับการผ่าตัดไป หลังจากนั้นไม่นาน จ็อบส์ตัดสินใจเขียน Email ลางานเพื่อรักษาตัวตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2009 ( มากกว่า 5 เดือน ) ซึ่งมีข่าวลือว่าจ็อบส์ได้รับการเปลี่ยนถ่ายตับในโรงพยาบาลมลรัฐเทนเนสซีแล้ว และผลการเปลี่ยนถ่ายเป็นที่น่าพอใจจนจ็อบส์ได้กลับเข้ามาทำงานจริงจังในเดือนมิถุนายน 2009

ปี 2010 จ็อบส์ยังคงร่วมงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่สะท้านวงการอย่าง iPad ได้ตามปกติแม้จะมีร่างกายผอมบางเป็นพิเศษ กระทั่งต้นปี 2011 จ็อบส์ประกาศลางานอีกครั้งจนทำให้หุ้นแอปเปิลดิ่งเหวไปตามธรรมเนียม ครั้งนั้นผู้ถือหุ้นแอปเปิลออกมาเคลื่อนไหวให้แอปเปิลแถลงความชัดเจนถึงอาการป่วยของจ็อบส์และทิศทางการส่งต่อตำแหน่งซีอีโอแอปเปิลในอนาคต แต่ไม่เป็นผลและสตีฟ จ็อบส์ยังคงดำรงตำแหน่งซีอีโอแอปเปิลต่อไป และสามารถขึ้นเวทีโชว์ตัว iPad 2 ได้ในเดือนมีนาคม ปี 2011 ซึ่งงานเปิดตัว iPad 2 ครั้งนั้นคืองานสุดท้ายที่จ็อบส์มีโอกาสสาธิตการใช้งานต่อสาธารณชน

ทั้งหมดนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งระบุว่า การเปลี่ยนถ่ายตับนั้นเป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถรักษาโรคมะเร็งประเภทที่จ็อบส์เป็นได้ก็จริง แต่หากมีการกลับมาของมะเร็ง ก็มักจะเกิดขึ้นในเวลา 1-2 ปี โดยโรคมะเร็งตับอ่อนของจ็อบส์นั้นเป็นโรคเดียวกับที่คร่าชีวิตนักแสดงนาม Patrick Swayze เมื่อสองปีที่ผ่านมา

คาดทรัพย์สินมูลค่า 7 พันล้านเหรียญ

หลังการเสียชีวิต นิตยสารฟอร์บส์ออกมาประเมินว่า ทรัพย์สินของจ็อบส์โดยประมาณนั้นคาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.1 หมื่นล้านบาท) โดยคำนวณจากมูลค่าหุ้นแอปเปิลที่จ็อบส์ถือ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีมูลค่าหุ้นมากที่สุดในตลาดสหรัฐฯรองจากบริษัทน้ำมัน Exxon Mobil

นิตยสารฟอร์บส์นั้นเคยเผยผลการสำรวจรายได้ของผู้บริหารระดับสูงจาก 500 บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา พบว่าจ็อบส์เป็นซีอีโออเมริกันที่ได้รับค่าตอบแทนสูงที่สุดประจำปี 2007 คิดเป็นเงิน 646 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 21,091,900,000 บาท (ตามค่าเงินในขณะนั้น) โดยเป็นรายได้จากหุ้น และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เป็นหลัก เพราะจ็อบส์รับเงินเดือนจากแอปเปิลเพียงเดือนละ 1 เหรียญสหรัฐเท่านั้น โดยในขณะนี้ ยังไม่มีรายงานว่าครอบครัวของจ็อบส์จะจัดการกับมรดกมูลค่ามากกว่า 7 พันล้านเหรียญอย่างไร

หุ้นคู่แข่งแอปเปิลพุ่งกระฉูด

หลังการเสียชีวิตของจ็อบส์ ปรากฏว่าพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วที่สุดคือเอเชีย โดยบริษัทคู่แข่งของแอปเปิลในเอเชียต่างหุ้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทที่เป็นผู้ผลิตสินค้ารายหลักให้แอปเปิลในเอเชียก็ไม่ได้รับผลกระทบตรงกันข้ามคือมูลค่าหุ้นยังคงขึ้นต่อไป โดยบริษัทกลุ่มแรกได้รับความมั่นใจจากนักลงทุนว่าจะมีโอกาสเติบโตในวันที่แอปเปิลไม่มีจ็อบส์ เช่นเดียวกับกลุ่มหลังที่นักลงทุนเชื่อว่าบริษัทผลิตชิ้นส่วนให้แอปเปิลก็จะยังมียอดสั่งผลิตสำหรับอุปกรณ์เพื่อผู้บริโภคต่อไป

นับตั้งแต่การเปิดตัวเครื่องเล่นไอพ็อดในปี 2001 รวมถึงแท็บเล็ตไอแพดรุ่นแรกในปี 2010 แอปเปิลทำให้ซัมซุง (Samsung) และเลอโนโว (Lenovo) รวมถึงผู้ผลิตรายอื่นในเอเชียสามารถเปิดตัวผลิตภัณฑ์กลุ่มเดียวกันออกมาแข่งขันได้จนสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยซัมซุง คู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของแอปเปิลในตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตขณะนี้มีมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นทันที 4% ยังน้อยกว่าแอลจี ผู้ผลิตทั้งชิ้นส่วนหน้าจอแอลซีดีและอุปกรณ์ไอทีที่มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นถึง 11%

ที่ผ่านมา ผลงานของจ็อบส์ทั้งไอแพด ไอโฟน และไอพ็อดยังสร้างความต้องการมหาศาลให้ตลาดทั้งชิปหน่วยความจำ หน้าจอบางจิ๋ว และหน้าจอทัชสกรีน มีผลให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าให้แอปเปิลในไต้หวันหรือจีนไม่ได้รับผลกระทบใดๆต่อการจากไปของจ็อบส์ ประกอบกับการวางแผนผลิตภัณฑ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปีก็ทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่สั่นคลอน โดยบริษัท Hon Hai Precision Industry Co. ซึ่งทำหน้าที่ประกอบเครื่องแบรนด์แอปเปิลนั้นมีมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้น 3.7% ขณะที่บริษัท Catcher Technology Co. Ltd. ซึ่งเป็นผู้ผลิตเคสโลหะให้แอปเปิลก็มีมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้น 2.6% รวมถึงบริษัท Wintek หนึ่งในผู้ผลิตหน้าจอทัชสกรีนให้แอปเปิลก็มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้น 7%

เช่นเดียวกับหุ้นเอชทีซี ซึ่งเป็นอีกบริษัทคู่แข่งของแอปเปิลที่ผลิตสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ ก็มีมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้น 2.4% ทั้งหมดเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากแอปเปิลเปิดตัว iPhone 4S แต่ไม่ได้รับคำชมเท่าที่ควรจากสาธารณชน

3 ปีถึงรู้ "อ่วมไม่อ่วม"

นักสังเกตการณ์ทั่วโลกฟันธงไว้ตั้งแต่การลาออกจากตำแหน่งซีอีโอแอปเปิลของจ็อบส์เมื่อเดือนสิงหาคม 2011 ว่าจะมีผลเปลี่ยนแปลงต่อแอปเปิลเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ เนื่องจากแผนดำเนินการและกำหนดการคลอดสินค้าช่วง 1-2 ปีนี้ถูกวางแผนล่วงหน้าเรียบร้อยภายใต้การบริหารของจ็อบส์ แต่การเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อยจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่แผนเหล่านี้ลุล่วงไปแล้ว และแอปเปิลต้องเดินไปโดยไร้แนวทางที่จ็อบส์เป็นหัวเรือใหญ่ในการตัดสินใจ

แอปเปิลในวันนี้สามารถเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากอันดับ 2 ของโลกนับตั้งแต่จ็อบส์กลับมาบริหารงานในปี 1996 ผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัททั้ง iPod ,iPhone และ iPad ล้วนทำให้แอปเปิลแตกต่างจากบริษัทอื่นในซิลิกอนวัลเลย์ แอปเปิลกลายเป็น"ผู้สร้างรสนิยม"ไม่ใช่ผู้สร้างซอฟต์แวร์ ( software ) หรือฮาร์ดแวร์ ( Hardware ) ทั้งหมดนี้ถูกยกให้เป็นความดีของจ็อบส์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำงานละเอียดและใส่ใจกับเรื่องเล็กน้อยระดับตำนาน

คำถามใหญ่ที่แอปเปิลต้องตอบให้ได้ขณะนี้คือ แอปเปิลจะยังให้ความสนใจกับรายละเอียดมากขนาดนี้หรือไม่เมื่อไม่มีจ็อบส์เป็นผู้กำกับ? ซึ่งเวลาเท่านั้นจึงจะสามารถพิสูจน์ความสามารถของซีอีโอคนใหม่ "ทิม คุ้ก" ตัวตายตัวแทนที่ทำหน้าที่กิจวัตรของซีอีโอช่วงที่จ็อบส์ลางานรักษาตัวทั้ง 3 ครั้ง คือในปี 2004, 2009 และล่าสุดคือมกราคมปีนี้

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งปวงเชื่อว่าแอปเปิลจะยังสามารถบริหารงานได้ตามแผนแม้จะไม่มีจ็อบส์อยู่บนโลกนี้ โดยเชื่อว่าการลาออกของจ็อบส์ช่วงเดือนสิงหาคมนั้นเป็นไปตามแผน เพราะแอปเปิลนั้นเตรียมการไว้อย่างดีสำหรับการ"อยู่โดยไม่มีจ็อบส์"

เช่นเดียวกับการเสียชีวิตของจ็อบส์ครั้งนี้ ไม่แน่ว่าอาจจะอยู่ในแผนที่จ็อบส์และแอปเปิลร่วมกันกำหนดไว้แล้วก็ได้ ใครจะรู้ .