ปลัด สธ.ห่วงผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เป็นเบาหวาน ต้องกินยาหรือฉีดอินซูลินควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทุกวัน แนะอย่าอดอาหาร ให้ตรวจหาแผลที่เท้าทุกวัน หลีกเลี่ยงการลุยน้ำท่วมขัง อาจเกิดบาดแผลโดยไม่รู้ตัว และติดเชื้อลุกลามได้ หากยาหรืออินซูลินหมดให้แจ้ง อสม.
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้สภาพน้ำท่วมขยายเป็นบริเวณกว้าง บางพื้นที่น้ำลึก ประชาชนจำนวนมากติดอยู่ในบ้านหรือต้องอพยพมาอาศัยอยู่ในที่สูง ได้รับความยากลำบาก กลุ่มที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้พิการ เด็กเล็ก ขอให้ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน ขอให้รับประทานยาหรือฉีดยาอย่างสม่ำเสมอ อย่าหยุดยาอย่างเด็ดขาด เพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้ หากยาหรืออินซูลินหมดให้แจ้ง อสม. เพื่อประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหากอาการกำเริบให้โทรปรึกษาได้ที่หมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับการปฏิบัติตัวของผู้ประสบภัยที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าในพื้นที่น้ำท่วมขังขณะนี้จะมีนับแสนคน ในช่วงน้ำท่วมนี้ขอให้ดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ประการแรกอย่าเครียด ขอให้ทำใจยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น และอยู่กับปัจจุบัน คิดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อย่ากังวลเรื่องในอนาคตข้างหน้ามากเกินไป ขอให้พูดคุยกับเพื่อนบ้าน เพื่อระบายทุกข์สุขร่วมกัน 2.นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ และ3.ให้รับประทานอาหารทุกมื้อ อย่าอดอาหาร เนื่องจากอาจทำให้ระดับน้ำตาลต่ำ หมดสติได้
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ประการ สำคัญขอให้ผู้ที่เป็นเบาหวาน ดูแลความสะอาดของเท้าเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีอาการชาที่เท้า หากเกิดแผลหรือถูกของมีคมบาด หรือทิ่มตำอาจจะไม่รู้สึกเจ็บ จนแผลติดเชื้อลุกลามภายหลัง ขอให้ระวังอย่าให้เกิดแผลที่เท้า หากเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ ย่ำน้ำท่วม โดยเฉพาะน้ำท่วมที่เน่าเสีย เนื่องจากหากเกิดโรคน้ำกัดเท้า เท้าเปื่อย จะทำให้ติดเชื้อง่าย และเป็นแผลลุกลาม เป็นอันตราย รักษาหายยาก หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำขอให้สวมรองเท้าบู้ท และอย่าให้น้ำเข้าไปในรองเท้า หลังจากลุยน้ำแล้ว ให้ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาด เช็ดให้แห้งทุกครั้ง และตรวจดูเท้าทุกวันว่ามีบาดแผลเกิดขึ้นหรือไม่
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปว่า กรณี ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องฉีดยาอินซูลิน โดยทั่วไปมักจะให้เก็บอินซูลินไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาเพื่อรักษาคุณภาพของ วัคซีน แต่ในกรณีที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมและตู้เย็นใช้การไม่ได้ ก็สามารถเก็บอินซูลินไว้ในห้องปกติได้ แต่ขอให้อยู่ในที่เย็นที่สุดคือในที่ร่ม ไม่ถูกแสงแดด หรือเก็บไว้ในภาชนะที่มีน้ำหล่อไว้เพื่อให้ความเย็นอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะช่วยถนอมคุณภาพอินซูลินได้เป็นการชั่วคราว และเมื่อตู้เย็นใช้การได้ให้รีบนำไปเก็บในตู้เย็นทันที