Tuesday, September 7, 2010

UN เผยเวียดนามแซงไทย ดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ


บรรดาบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ของโลกกำลังวางแผนเพิ่มการลงทุนโดยตรงใน ต่างประเทศในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยเน้นที่ระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่รายใหญ่อย่างจีน อินเดีย และบราซิล ในฐานะ 3 แหล่งสำคัญที่สุดของโลกปัจจุบันในการรองรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)
      
       ในเวลาเดียวกัน สหรัฐอเมริกาที่ก่อนหน้านี้เคยครองตำแหน่งแชมป์มาโดยตลอดและเสียตำแหน่งไป ให้แก่จีนเมื่อปีที่แล้ว ได้รับความสนใจน้อยลงอย่างต่อเนื่อง และในช่วงระยะเวลาจนกระทั่งถึงสิ้นปี 2012 ก็จะได้รับ FDI คิดเป็นอันดับ 4 ของโลกเท่านั้น
      
       สำหรับไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากเป็นอันดับที่ 11 อันเป็นอันดับเดิมของเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้า แต่ก็ถูกเวียดนามที่เคยอยู่ในอันดับเดียวกัน แซงหน้าขึ้นไปแล้ว โดยในตอนนี้เวียดนามอยู่ที่อันดับ 8

      
       ทั้งนี้ เป็นรายงานผลการสำรวจโดยหน่วยงานด้านการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ซึ่งก็คือ อังค์ถัด (การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา) ซึ่งได้จัดทำรายงานเรื่อง World Investment Prospects Survey 2010-2012 อันเป็นการสังเคราะห์ขึ้นมาจากการสำรวจบรรยากาศการลงทุนทางตรงต่างประเทศใน 236 บรรษัทระหว่างประเทศระดับนำของโลก กับอีก 116 หน่วยงานด้านการส่งเสริมการลงทุน และได้ถูกนำออกเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (6)
      
       รายงานของอังค์ถัดพบด้วยว่า วิกฤตเศรษฐกิจของโลกที่ดำเนินมานับจากปี 2008 สร้างความเสียหายและภัยคุกคามในด้านการลงทุน น้อยกว่าที่หวั่นเกรงกัน โดยกระแสการลงทุนที่หดหายไปในปี 2008-2009 น่าจะสามารถฟื้นตัวช้าๆ ในปี 2011 และ 2012
      
       **การผนวกและควบรวมกิจการจะเฟื่องฟู**
      
       ในการนี้ เม็ดเงินลงทุนทางตรงต่างประเทศส่วนใหญ่ยังคงมาจากประเทศร่ำรวย อาทิ สหรัฐฯ และบรรดาชาติสมาชิก 27 รายของสหภาพยุโรป (อียู) พร้อมกับเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาของบรรดาประเทศที่ค่อน ข้างยากจนจำนวนมาก
      
       กระนั้นก็มีแนวโน้มที่น่าสนใจว่า ในหลายปีที่ผ่านมา บรรดาบริษัทธุรกิจใหญ่ยักษ์ที่ตั้งฐานอยู่ในระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ กำลังมีบทบาทมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทำการลงทุนอยู่ทั้งในชาติร่ำรวยและชาติยากจน และวิธีการที่เลือกใช้เพื่อการนี้ มักเป็นวิธีการผนวกและควบรวมกิจการ
      
       นอกจากนั้น วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ส่งผลเป็นการพลิกเปลี่ยนจุดเน้นของเม็ดเงินลง ทุนต่างประเทศ โดยที่มีการให้ความสำคัญแก่ระบบเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาและระบบเศรษฐกิจ ของอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ กล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจเหล่านี้ 9 รายได้ติดอันดับ 15 ประเทศเป้าหมายการลงทุนโดยตรงต่างชาติโดดเด่นที่สุด
      
       จีนคือเป้าหมายของเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเป็นหมายเลขหนึ่ง โดยทำสถิติต่อเนื่องเป็นปีที่สองแล้ว ขณะที่อินเดียซึ่งเขยิบขึ้นรั้งตำแหน่งที่ 2 ในขณะนี้ไต่ขึ้นจากอันดับที่ 3 ของปี 2009 และบราซิลไต่ขึ้นมาเป็นที่ 3 จากเดิมซึ่งเคยอยู่อันดับที่ 4 ส่วนรัสเซียรั้งอันดับที่ 5 ดังเดิม
      
       สำหรับอันดับที่ 6 เป็นของเม็กซิโก ซึ่งพรวดขึ้นมาจากอันดับ 12 ของปีที่แล้ว ทางด้านอังกฤษร่วงหนึ่งขั้นมาอยู่ในตำแหน่งที่ 7 ตามด้วยเวียดนนามกับอินโดนีเซียซึ่งรั้งอันดับที่ 8 กับ 9 ตามลำดับ
      
       ผลการสำรวจพบว่าประเทศไทยเป็นเป้าหมายของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติใน อันดับที่ 11 อันเป็นอันดับเดิมต่อเนื่องจากเมื่อปี 2009 ตามด้วยโปแลนด์ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส กับมาเลเซียตามลำดับ
      
       ในด้านของปริมาณเม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนทั้งระบบ อังค์ถัดเคยให้ตัวเลขประมาณการไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมว่า ปี 2011 น่าจะพุ่งเพิ่มเป็น 1.3-1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่ปีนี้อยู่ในระดับประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากนั้น ก็จะพุ่งต่อเนื่องไปเป็น 1.6-2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2012
      
       สถิติดีที่สุดที่ปริมาณเม็ดเงินลงทุนทางตรงต่างชาติเคยพุ่งขึ้นสูง สุดคือ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี 2007 และลดเหลือแค่ 1.11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2009 เพราะมีการหั่นค่าใช้จ่ายอย่างหนักสืบเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤต เศรษฐกิจโลก
      
       อังค์ถัดระบุว่า ประดาบรรษัทระหว่างประเทศมองโลกแง่ดีว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ผ่านช่วงที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว และดังนั้น 58% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่ามีแผนจะขยายการลงทุนทางตรงต่างประเทศในปี 2011-2012
      
       ทั้งนี้ รายที่มองโลกแง่ดีส่วนใหญ่เป็นบรรษัทระหว่างประเทศที่ตั้งฐานอยู่ในประเทศ กำลังพัฒนา มากกว่าพวกที่อยู่ในประเทศร่ำรวย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในยุโรป