Thursday, September 23, 2010

3G แท้ง ศาลปกครองสูงสุดสั่งระงับ (แต่แอนนี่ท้อง และ iphone 4 คลอด ในวันเดียวกัน)


เมื่อเวลา 9.00น.ศาลปกครองสูงสุด อ่านคำสั่งที่ห้องพิจารณาคดี1 ชั้น3 โดยองค์คณะที่5 กรณีการประมูล3G โดยศาลพิเคราะห์ใน 3 ประเด็นคือ เรื่องอำนาจ กทช.ในการดำเนินการ ศาลวินิจฉัยโดยพิจารณาจาก พรบ.คลื่นฯ 2543 เห็นว่า น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยจะส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในกรณีนี้ต่อไป ประเด็นที่สอง ขณะนี้คณะกรรมการร่วมแผนแม่บท ยังไม่มีตัวตน และประเด็นสุดท้าย หากปล่อยให้มีการประมูลจะเกิดผลเสียหายมากกว่า จึงจำเป็นต้องรอ กสทช. ศาลฯระบุ การไม่มี 3จี ไม่เป็นปัญหาต่อการบริการสาธารณะ ซึ่งการให้บริการจะต้องตั้งอยู่ในความชอบของกฏหมายด้วย
ศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง ให้ระงับการประมูลใบอนุญาต 3G ไว้ก่อน จนกว่าคดีจะสิ้นสุด
ขณะที่ ดร.นที ประธานกรรมการ กทช.ได้ออกจากศาลไปทันทีที่ฟังคำสั่งศาลเสร็จสิ้น โดยไม่มีการให้สัมภาษณ์ และจะมีการแถลงที่กทช.ในเวลา14.00น.วันนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ ก่อนเวลานัด 09.00 น.ศาลปกครองสูงสุด อ่านคำพิพากษา โดยศาลไม่อนุญาตให้เข้าไปถ่ายภาพในห้องพิจารณาคดี1ต้องถ่ายภาพผ่านประตูเข้า ไปแล้วรอฟังคำสั่งที่ถ่ายทอดสดลงมาด้านล่าง บรรยากาศ ด้านนอก 08.50 น.นายสุขุม ชื่นมะนา ปธ.สหภาพ กสท.นำกลุ่มพนักงานใส่เสื้อส้ม กสท.ร่วม 100 คนเชียร์ กสท.โดยฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ ของศาลปกครองสูงสุด กรณี 3Gกันคึกคัก
ก่อนหน้านี้คู่ความ ทั้งนาย จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เดินทางมาถึงที่ศาลปกครองแล้ว และ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกทช.ได้เดินทางมาถึงก่อนและสีหน้ายิ้มแย้มดี

23 กย. 2553 11:44 น.

คดีนี้ผู้ฟ้องคดี (บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)) ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ออก ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ IMT ย่าน ๒.๑ GHz โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลเพิกถอนประกาศดังกล่าว และสั่งระงับการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่และอนุญาตให้ใช้ คลื่นความถี่ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะพิพากษา ซึ่งศาลปกครองชั้นต้น ได้มีคำสั่ง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ระงับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน ๒.๑ GHz และการดำเนินการต่อไปตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่า คดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลปกครองชั้น ต้น

ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในสามกรณี ดังนี้

กรณีที่หนึ่ง ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ IMT ย่าน ๒.๑ GHz ที่ประกาศเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นกฎที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้น่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เมื่อ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้กำหนดให้ คณะกรรมการร่วมมีอำนาจจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนด คลื่นความถี่ แห่งชาติ ตลอดจนจัดสรร คลื่นความถี่ ระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกิจการวิทยุโทรคมนาคม i แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะอ้างว่าคลื่นดังกล่าวเป็นคลื่นโทรคมนาคมตามที่กรมไปรษณีย์โทรเลขได้ประกาศ ไว้เดิม และสอดคล้องกับตารางกำหนด ความถี่วิทยุแห่งข้อบังคับ ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศก็ตาม แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะดำเนินการ ตามมาตรา ๕๑ วรรค หนึ่ง (๑) (๓) (๔) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ต้องมีการดำเนินการ จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ตลอดจนจัดสรร คลื่นความถี่ระหว่างคลื่นความถี่ ที่ใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกิจการวิทยุโทรคมนาคมโดยคณะกรรมการร่วม ก่อน

ตามมาตรา ๖๓ และมาตรา ๖๔ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่มีคณะกรรมการ ร่วม การ จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ตลอดจนจัดสรร คลื่นความถี่ระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการวิทยุโทรคมนาคมจึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การกำหนดนโยบายและจัดทำแผนแม่บท กิจการโทรคมนาคมและ แผนความถี่วิทยุ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ การออกประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว


กรณีที่สอง การให้กฎดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริง
ฟังได้ว่า ยังไม่มีการประมูลและยังไม่มีการออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูล ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามกฎต่อไป จึง มีผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง ไม่มากนัก เนื่องจากมีผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลเพียง ๓ ราย หากให้มีการประมูล ล่วงเลยไปจนถึงขั้นตอนการออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูล หากต่อมาศาลมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมก่อให้เกิด ความเสียหายที่มากกว่า และยากกว่าในการเยียวยาแก้ไขภายหลัง โดยอาจเกิดกรณีฟ้องร้องเกี่ยวกับผล การประมูล ทำให้เกิดปัญหา ที่ยุ่งยากซับซ้อนตามมา
กรณีที่สาม การให้ทุเลาการบังคับตามกฎเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐหรือแก่การ บริการสาธารณะหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในปัจจุบันการ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2G ได้มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ยอมรับว่า ในระยะแรกการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ทำได้เพียงโครงข่ายขนาดเล็ก ไม่สามารถครอบคลุมได้ทั่วประเทศ และการจะครอบคลุมทั่วประเทศต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย ๔ ปี จึงเห็นได้ว่า การที่ขณะนี้ยังไม่มีการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G i จึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของ รัฐ หรือแก่การบริการสาธารณะแต่อย่างใด นอกจากนี้ แม้การดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่การดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความชอบ ด้วยกฎหมายด้วย

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทร คมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ IMT i ย่าน ๒.๑ GHz ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ โดย ให้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ระงับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน ๒.๑ GHz และการดำเนินการต่อไปตามประกาศดังกล่าว ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่า
คดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเป็นต้นไป


ศาลปกครองสูงสุด
วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๓