Friday, September 24, 2010

คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ประกาศยกย่อง "ไตรภูมิพระร่วง"


ศ.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ กรรมการวรรณคดีแห่งชาติ แถลงผลการดำเนินงานของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และคณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ ว่า ขณะนี้คณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ มีมติพิจารณาคัดสรรวรรณกรรมที่แต่งในสมัยสุโขทัย ที่มีคุณค่าทางด้านเนื้อหา และมีความงดงามในเชิงวรรณศิลป์ ให้เป็นวรรณคดีของชาติ สมัยสุโขทัย 5 เรื่อง ดังนี้ 1.จารึกหลักที่ 1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง 2.จารึกหลักที่ 2 ศิลาจารึกวัดศรีชุม 3.จารึกหลักที่ 3 ศิลาจารึกนครชุม 4.สุภาษิตพระร่วง และ5.ไตรภูมิกถา นอกจากนี้ยังมีมติประกาศยกย่องวรรณคดี เรื่อง ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง ให้เป็นยอดของวรรณคดีสมัยสุโขทัย เนื่องจาก เป็นวรรณคดีเก่าแก่ โดยพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือ พระยาลิไท พระมหากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งกรุงสุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 1888 หรือมีอายุ กว่า 600 ปี โดยวรรณคดีเรื่องนี้ มีเนื้อหามุ่งสอนศีลธรรม ให้ประชาชนยึดมั่นในคุณงามความดี เชื่อในเรื่องบาปกรรม และนรก สวรรค์ ซึ่งเป็นความเชื่อหยั่งรากลึกในสังคมไทยเป็นเวลานาน
การที่คณะกรรมการได้ประกาศยกย่องวรรณคดี เรื่อง ไตรภูมิกถา ให้เป็นยอดวรรณคดี เพราะเห็นว่า เป็นหนังสือแต่งดี มีคุณค่าที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังทางปัญญาของการสร้างสรรค์ มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง ในเชิงวรรณคดีไทย ที่มีคุณค่าพร้อมทั้งด้านศาสนา ด้านสังคม ด้านศิลปกรรม โดยสอนเรื่องพุทธศาสนาเรื่องแรกที่คงเหลือหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน มีคำประพันธ์ประเภทความเรียงร้อยแก้ว สะท้อนวรรณคดีไทยในระยะแรกเริ่ม สำนวนภาษาที่ปรากฏมีศัพท์ทางศาสนา และศัพท์ภาษาโบราณอยู่มาก ซึ่งสามารถนำมาเป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษา ในการใช้ภาษาในสมัยกรุงสุโขทัยได้ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในเชิงวรรณศิลป์ เนื่องจากหนังสือที่ให้ความรู้ทางด้านอักษรศาสตร์ จารีตประเพณี และถือว่ามีความโดดเด่นในด้านการใช้ภาพพจน์อุปมา ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ ให้อารมณ์ และเห็นภาพชัดเจน
ศ.ประเสริฐ ณ นคร ประธานกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กไทยไม่ค่อยได้เรียนรู้ ในเรื่องวรรณคดี ดูจาก ดนตรี หรือ เพลงในสมัยนี้ ที่ไม่มีคำคล้องจอง และสัมผัส ทำนองเลย หรือ พูดได้ว่าคำคล้องจอง ได้หมดไปแล้ว ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่เราไม่ได้ฝึกฝนให้เด็กเรียนรู้เพลงที่มี เนื้อหาสัมผัส ตั้งแต่เล็กๆ เมื่อโตขึ้นมา ก็ถูกผู้ผลิตทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ พยามยามยัดเยียดครอบงำ ให้เด็กเสพสื่อโดยการโฆษณา จนทำให้ได้ยินจนชินหู และเกิดความชอบ และนิยมเพลงที่ไม่มีเนื้อเพลง และทำนองสัมผัสกัน ดังนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน