Sunday, September 25, 2011

NASA คาด “ดาวเทียม UARS” ร่วงลงแปซิฟิกนอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย


เอเอฟพี - ชิ้นส่วนดาวเทียมสำรวจทรัพยากรของสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดพอๆ กับรถบัสได้เคลื่อนผ่านทวีปแอฟริกา และตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก ก่อนจะตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิกนอกชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนีย องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) เผยวานนี้ (24)
      
       ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรและภูมิสารสนเทศ ( UARS ) น้ำหนัก 6 ตัน ตกลงจากท้องฟ้าระหว่างเวลาประมาณ 11.23 น.และ 01.09 น.ตามเวลาท้องถิ่น (03.23-05.09 น.GMT) ของวันศุกร์ (23) ทว่า ยังไม่มีรายงานผู้พบเห็น หรือความเสียหายใดๆ ที่เกิดจากเศษดาวเทียมดังกล่าว
      
       “เรายังไม่ได้รับรายงานที่เชื่อถือได้ว่ามีผู้ใดพบเห็นมัน”  นิก จอห์นสัน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ด้านการโคจรของNASA ระบุ โดยเสริมว่า จากการติดตามการเคลื่อนที่ของเศษดาวเทียม พบว่าตกลงในมหาสมุทรเป็นส่วนใหญ่
      
       การประเมินล่าสุดที่เชื่อถือได้โดยศูนย์ปฏิบัติการร่วมด้านอวกาศ ณ ฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์กในแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า เศษดาวเทียมUARS ตกลงสู่พื้นโลกเมื่อเวลา 04.16 น.GMT (11.16 น.ตามเวลาในไทย)
      
       “หากเวลาที่ตก คือ 04.16 น.GMT ก็แปลว่า เศษดาวเทียมทั้งหมดร่วงลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว” จอห์นสันเผย
      
       ที่ผ่านมา NASA ย้ำชัดเจนว่า โอกาสที่เศษขยะอวกาศจะเป็นอันตรายต่อประชาชนบนผืนแผ่นดินนั้นมีน้อยมาก
      
       ดาวเทียมดวงนี้ใช้เวลาโคจรรอบโลกราว 1 ชั่วโมงครึ่ง จึงหมายความว่า มันได้เคลื่อนผ่านพื้นที่เกือบทั้งหมดของโลกในการโคจรรอบสุดท้าย ตามข้อมูลในแผนที่ซึ่ง นาซา โพสลงเว็บไซต์ http://nasa.gov/uars
      
       อย่างไรก็ดี จอห์นสัน บอกว่า ที่พักสุดท้ายของดาวเทียมซึ่งมีอายุการใช้งานถึง 20 ปีดวงนี้อาจยังเป็นปริศนาต่อไป โดย นาซา จะต้องอาศัยรายงานการพบเห็นจากประชาชน รวมถึงบุคลากรด้านการบินและนาวี เพื่อระบุจุดตกที่แน่ชัด
      
       ทั้งนี้ คาดว่า ดาวเทียมจะแตกออกเป็น 26 ส่วน ระหว่างเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศโลก โดยส่วนที่จะหลงเหลือ คือ แท็งก์เชื้อเพลิงไทเทเนียม, ชิ้นส่วนที่ผลิตจากเบริลเลียม, แบตเตอรี่อะลูมิเนียม และ ขอบล้อ
      
       ดาวเทียมยูเออาร์เอส ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในปี 1991 โดยยานดิสคัฟเวอรี มีขนาด 35x15 ฟุต หนัก 13,000 ปอนด์ พร้อมอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สำหรับวัดกระแสลม อุณหภูมิ และองค์ประกอบเคมีในโอโซนอีก 10 ชิ้น และถูกปลดประจำการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2005