Thursday, May 20, 2010

สาเหตุที่ Intel ไปตั้งโรงงานที่เวียดนาม จากปากของกรรมการผู้จัดการ Intel ประเทศไทย



ข่าวอาจจะเก่าสักหน่อย แต่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับรับรู้ความเป็นไปของความด้อยประสิทธิ์ภาพ และให้รู้ว่าต้นทุนอะไรบ้างที่เราด้อยกว่าคนอื่นด้วยเพราะระบบห่วยๆของเราเอง


เผยแพร่เมื่อ 19 October 2007 โดย MacroArt

วันนี้ไปร่วมงานสัมมนา Intel CIO Forum: Digital Enterprise Seminar 2007 Maximize your IT ROI in a Changing Economy ซึ่งเป็นงานสัมมนาฟรีที่ Intel จัดขึ้นทุกปี

งานในปีนี้จัดได้น่าสนใจครับ ช่วงแรกคุณเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้บรรยายและแสดง roadmap ของ CPU ในอนาคตอันใกล้ เนื้อหาเยอะมากครับ และผมเองไม่ใช่เซียนด้านฮาร์ดแวร์ ฟังมาแบบงูๆ ปลาๆ ก็พอสรุปได้ว่า Intel กำลังจะเข้าสู่เทคโนโลยีขนาด 45 นาโนเมตร ซึ่งจะทำให้ CPU มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง และประหยัดไฟมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี Intel vPro ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถ remote access เข้าไปควบคุมคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นในระดับฮาร์ดแวร์ได้ ให้ลองนึกภาพการเรียก remote desktop เข้าไปยังเครื่องที่ใช้ Windows หรือการเรียก secure shell ไปยังเครื่องที่ใช้ Linux ซึ่งเป็นการ remote access ในระดับระบบปฏิบัติการ แต่ถ้าระบบปฏิบัติการเกิดแฮงค์ขึ้นมาก็ไม่สามารถ access เข้าไปได้ ขณะที่เทคโนโลยี Intel vPro สามารถเข้าถึงในระดับฮาร์ดแวร์ ลองนึกภาพการใช้คอมพิวเตอร์ของเราเพื่อ remote access ไปอีกเครื่อง แล้วเราสามารถเห็นหน้าจอตอนที่เครื่องนั้นกำลังรีบูทอยู่ปรากฎบนหน้าจอของ เราได้ แต่เทคโนโลยีนี้มีการจำกัดความสามารถให้ทำได้เพียงบางอย่าง เช่น สั่งรีบูท หรือสั่งให้บูทจากซีดีรอมหรือฮาร์ดดิสก์ลูกอื่นได้ และยังมีการเข้ารหัสแบบ 128 บิตไว้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ก็คงจะเหมาะกับธุรกิจที่มีเครือข่ายสาขาหลายแห่ง จะช่วยให้ฝ่ายไอทีสามารถแก้ไขปัญหาของคอมพิวเตอร์ที่สาขาได้สะดวกขึ้น

ช่วงที่สอง Mr. Duncan Hai Liang Lee ตำแหน่ง Enterprise Architect ของ Intel Asia Pacific มาบรรยายเรื่องกรณีศึกษาของ Intel ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความน่าน้อยเนื้อต่ำใจของ CIO (Chief Information Officer) เวลาคุยเรื่องของบไอทีกับ CEO (Chief Executive Officer) หรือ CFO (Chief Financial Officer) ขอไม่ลงรายละเอียดละกันนะครับ เนื่องจากฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง

ช่วงที่สาม ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) มาพยากรณ์เศรษฐกิจปี 2551 ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ซึ่งบรรยายได้ดีมากเลยครับ เอาข้อมูลเศรษฐกิจมาให้ดูแล้ววิเคราะห์ออกมาเป็นฉากๆ เลย น่าเสียดายที่ไม่มีการแจก handout ในส่วนนี้ เท่าที่พอจะจำได้ก็คือเรื่องการส่งออกของประเทศไทย GDP ของประเทศในปีนี้ที่โต 4% กว่า ถ้าลองไปแยกย่อยดูจะพบว่ามาจากการส่งออกสุทธิ 3% กว่าแล้ว แปลว่ามีการลงทุนจากภาครัฐบาลและเอกชนไม่ถึง 1%

ถ้าเราลองมาดูเรื่องการส่งออก จะพบว่าที่มีปัญหามากก็คือธุรกิจประเภทที่เน้นการใช้แรงงาน อย่างเช่นธุรกิจสิ่งทอ ซึ่งความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจสิ่งทอของประเทศไทยอยู่ในระดับที่สู้ ประเทศอื่นไม่ได้มาตั้งแต่ก่อนวิกฤตปี 2540 แล้ว แต่พอมีวิกฤตจนเงินบาทอ่อนตัวจาก 25 บาทไปเป็น 50 บาท การส่งออกสิ่งทอก็เลยอยู่รอดต่อไปได้อีกสิบปี แต่พอมาถึงวันนี้ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ประกอบกับคู่แข่งอย่างจีนไล่ตามมา ธุรกิจสิ่งทอก็ลำบากแล้วครับ และมีแนวโน้มว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปอีก

การเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทให้อ่อนเพื่ออุ้มภาคส่งออกจึงไม่ถูกต้องนัก ที่จริงแล้วธุรกิจส่งออกควรจะปรับตัวให้มากขึ้น เพราะถ้าหากลองดูเกาหลีใต้ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้งเหมือนกัน ในตอนนั้นค่าเงินเกาหลีก็อ่อนตัวลงเช่นกัน แต่เกาหลีก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสังเกตได้เลยว่าซัมซุงในวันนี้กับเมื่อสิบปีที่แล้วต่างกันอย่างสิ้น เชิง สินค้าเกาหลีเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกอย่างมาก ทำให้ทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าค่าเงินเกาหลีจะแข็งกว่าเมื่อสิบปีที่แล้วอีก แต่เกาหลีก็ไม่บ่นอะไรเลย

ในช่วงสุดท้ายของงาน เป็นการเสวนาโดยวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่ คุณเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ จาก Intel คุณกำพล ศรธนะรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คุณไชยเจริญ อติแพทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที ไอซีที โซลูชั่นส์ จำกัด และ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

เนื้อหาในช่วงนี้ส่วนใหญ่ก็ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องน่าเศร้าของประเทศไทย แต่มีเรื่องนึงที่น่าสนใจสำหรับคนในแวดวงเว็บ นั่นก็คือบริษัท พีทีที ไอซีที โซลูชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ที่ดึงเอาส่วนงานด้านไอทีของทุกบริษัทในเครือ ปตท. มารวมกัน ตอนนี้กำลังสร้าง Tier III Data Center ขึ้นมาเพื่อใช้รองรับเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดของบริษัท และถ้ามี capacity เหลือก็จะเปิดให้บริษัทภายนอกเช่า ซึ่งว่าที่ลูกค้ารายหนึ่งที่บริษัทมองไว้ก็คือ Google นั่นเอง

ปิดท้ายการสัมมนาด้วยคำถามจากผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านหนึ่งที่ถามคุณเอก รัศมิ์เรื่องที่ Intel ตัดสินใจไปตั้งโรงงานที่เวียดนาม มันมาจากเหตุผลอะไรกันแน่?

คุณเอกรัศมิ์อยากตอบคำถามนี้มากครับ เพราะที่ผ่านมาก็มีแต่คนเอาไปโยงเข้ากับเรื่องการเมือง ซึ่งคุณเอกรัศมิ์ยืนยันว่าไม่เกี่ยว เพราะทาง Intel ตัดสินใจเรื่องนี้ตั้งแต่ปลายปี 2005 แล้ว ก่อนที่จะมีการประท้วงขับไล่อีก

คุณเอกรัศมิ์อธิบายว่าทาง Intel มองหาประเทศในโซนเอเชียเพื่อจะตั้งโรงงาน ATM (Assembly, Test, Manufacturing) โดยที่ดูว่าประเทศใด best in class ในด้านไหนบ้าง เช่น เวียดนามอาจจะมีค่าแรงถูกสุด อินเดียอาจจะมีแหล่งผลิตซอฟท์แวร์ที่ดีที่สุด โดยในตอนนั้น Intel ได้คัดเหลือ 3 ประเทศได้แก่ ไทย อินเดีย และเวียดนาม

ทาง Intel ก็ส่งคนมาคุยในประเทศไทย คนที่ได้คุยด้วยก็คือรองเลขาธิการ BOI ตอนนั้น Intel ถามว่าประเทศไทย best in class ในด้านใดบ้าง BOI ก็เอาโบร์ชัวร์ให้ Intel ไปแผ่นนึง Intel ถามว่าประเทศอื่นมีการยกเว้นภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนถึง 12 ปี บางประเทศก็ 15 ปี ขณะที่ประเทศไทยให้เพียง 8 ปี BOI ก็บอกว่าเป็นเรื่องกฎหมาย ถ้าจะเพิ่มจำนวนปีก็ต้องไปแก้กฎหมายอีก หลังจากนั้น Intel ก็กลับไป แล้วส่งคำถามฝากมาที่คุณเอกรัศมิ์ ทางคุณเอกรัศมิ์ก็โทรไปถามรองเลขาธิการ BOI แต่ก็ไม่มีคนรับสาย ส่ง e-mail ไปสามรอบ รอสามสัปดาห์ก็ไม่มีการตอบกลับ

แล้ว Intel ก็ไปเวียดนาม…

หลังจากนั้น BOI ออกมาแก้เกี้ยวว่า Intel ขอที่ดินฟรีจากประเทศไทย ซึ่งคุณเอกรัศมิ์บอกว่าไม่ใช่ Intel เข้าใจดีว่าเรื่องที่ดินเป็นเรื่องที่ต้องมีการซื้อขายตามราคาตลาดปกติ เพียงแต่ Intel บอกว่าจีนเสนอให้ที่ดินฟรีเพื่อให้ Intel เข้าไปตั้งโรงงาน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็น best in class ของจีน

สรุปว่า Intel ไปตั้งโรงงานในเวียดนาม จากเดิมที่ตั้งงบไว้ 300 ล้านเหรียญ ก็มีการเพิ่มเป็น 1,000 ล้านเหรียญ และมีบริษัทจากไต้หวันที่เป็น supplier ให้ Intel เข้ามาตั้งโรงงานด้วย โดยลงทุนสูงถึง 3,000 ล้านเหรียญ เพื่อที่จะ supply ให้โรงงานอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในเวียดนาม ซึ่งทำให้เกิด supply chain ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาทั้งสาย รวมๆ แล้วเวียดนามอาจจะได้เม็ดเงินลงทุนถึง 5,000 ล้านเหรียญ

คุณเอกรัศมิ์บอกว่า Intel ไปคุยกับเวียดนาม ได้คุยกับคนในระดับรัฐมนตรี Intel ถามอะไรไป รัฐมนตรีก็จะตอบมาเป็นข้อๆ ข้อไหนที่ยังตอบไม่ได้ก็จะขอเวลาไปหาคำตอบภายใน 60 วัน

ความปรารถนาที่จะเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติของไทยกับเวียดนามนั้นต่างกัน จริงๆ ตกลงว่า BOI นี่จะส่งเสริมการลงทุนจริงหรือเปล่า

คุณเอกรัศมิ์กล่าวว่า “ผมเป็นคนไทยนะ ผมอยากให้ Intel มาตั้งโรงงานในไทยที่สุด” และพูดปิดท้ายอย่างติดตลกแกมจริงว่า

“เรื่องนี้ยิ่งพูดยิ่งมีอารมณ์”

ที่มา : http://blog.macroart.net/2007/10/intel-assembly-test-manufacturing-at-vietnam.html

อ่านบทความที่น่าสนใจ เพิ่มเติม : อะไรๆก็เวียดนาม หรือเพราะ 3 ปีก่อนคนไอทีเวียดนาม ทำงานดีกว่าคนไอทีไทย 4-5 เท่า