ยานขนส่งอวกาศแอตแลนติส ( atlantis ) ได้พุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า จากฐานปล่อยยานอวกาศศูนย์อวกาศเคเนดี้ ที่แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริด้า เมื่อเวลา 11 นาฬิกา 29 นาทีตามเวลาท้องถิ่นหรือ 22 นาฬิกา 29 นาทีเมื่อคืนนี้ ตามเวลาไทย ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมไป 3 นาที เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย
ยานแอตแลนติส พานักบินอวกาศสหรัฐฯ 4 คน พร้อมอุปกรณ์ และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ไอ-เอส-เอส เป็นเวลา 12 วัน โดยจะเดินทางไปถึงวันอาทิตย์นี้
นับเป็นภารกิจเที่ยวสุดท้ายของยานขนส่งอวกาศแอตแลนติส และเป็นการปิดฉากโครงการยานขนส่งอวกาศของนาซ่าที่ดำเนินมานาน 30ปี ทำให้ต่อจากนี้ สหรัฐฯ จะไม่มียานอวกาศที่พร้อมจะนำนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก หรือสถานีอวกาศนานาชาติได้เอง และต้องพึ่งยานอวกาศโซยุส ของรัสเซีย ซึ่งนั่งได้ 3 ที่นั่งไประยะหนึ่ง
โดยขณะนี้นาซ่า กำลังเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนมีส่วนร่วมพัฒนายานอวกาศรุ่นใหม่ แต่อาจต้องใช้เวลาถึง 4 ปี กว่าที่จะสามารถพัฒนายานรุ่นใหม่มาใช้ได้จริง
ประธานาธิบดีบารัค โอบามาตั้งเป้าว่า หลังจากนี้นาซ่าจะมุ่งพัฒนาการวิจัยดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ โดยเป้าหมายสูงสุด ก็คือ การส่งนักบินอวกาศสู่ดาวอังคาร
การยุติโครงการยานขนส่งอวกาศในครั้งนี้ ทำให้พนักงานของศูนย์อวกาศเคเนดี้ และตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องรวม 8 พันคน ต้องตกงาน
มีประชาชนที่สนใจเฝ้าดูการปล่อยยานครั้งประวัติศาสตร์อย่างน้อย 7 แสน 5 หมื่นคน ที่บริเวณศูนย์อวกาศเคเนดี้ แม้จะมีคำเตือนเรื่องพายุฝน ที่ทำให้เกือบต้องเลื่อนการปล่อยยานออกไป
อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ริเริ่มให้พัฒนาโครงการยานขนส่งอวกาศในทศวรรษที่ 1970และยานขนส่งอวกาศลำแรกได้ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในปี 1981 โครงการนี้มียานขนส่งอวกาศทั้งหมด 6 ลำ แต่ใช้จริงๆ 5 ลำ โดยยานชาเลนเจอร์ และโคลัมเบียเกิดระเบิด ในปี 1986 และ 2003 ทำให้มีนักบินอวกาศ 14 คนเสียชีวิตจากโศกนาฎกรรมทั้ง 2 ครั้ง