Friday, November 5, 2010

"พัชรวาท" ยื่นฟ้อง"อภิสิทธิ์" ใช้อำนาจนายกฯปฏิบัติมิชอบ


พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มอบอำนาจให้ทนายความ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ โดยระบุฟ้องสรุปว่า หลังจำเลยได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจกลั่นแกล้งโจทก์ทุกวิถีทาง เพื่อให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากโจทก์ไม่ยอมสนองนโยบายตามความต้องการของจำเลย เช่น ปัญหาการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่แทนโจทก์ , ปัญหาการลอบฆ่านายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ พธม. , ปัญหาที่จำเลยต้องการแต่งตั้ง พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร. เป็นผบ.ตร. เพื่อให้มาคุมคดีลอบฆ่านายสนธิ และหวังผลในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ทั้งยังสั่งให้โจทก์ลาพักร้อน 1 เดือน แต่โจทก์เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ จึงปฏิเสธ นอกจากนี้จำเลยยังได้กลั่นแกล้งโดยสั่งให้โจทก์เดินทางไปราชการที่ 3 จังหวัดภาคใต้ด้วย
ต่อมาวันที่ 7 กันยายน 2552 ป.ป.ช. ชี้มูลว่าโจทก์ในฐานะ ผบ.ตร.(ขณะนั้น) กับพวก ร่วมกันสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปราม กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภา เพื่อขัดขวางไม่ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี(ขณะนั้น) และคณะรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมการแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ด้วยอาวุธร้ายแรง จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่ง ป.ป.ช.ชี้มูลว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและมีมูลความผิดทางอาญา จำเลยรีบอาศัยอำนาจออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 200/2552 ลงวันที่ 9 กันยายน 2552 ให้โจทก์ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พ้นจากอำนาจหน้าที่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ กระทั่งวันที่ 18 ก.ย.52 ป.ป.ช.มีหนังสือชี้มูลความผิดโจทก์มาให้จำเลยจึงมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 228/2552 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2552 สั่งปลดโจทก์ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2552 ซึ่งโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร. ) ที่พิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำผิด ร้ายแรง ยกโทษแก่โจทก์และสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการ แต่จำเลยกลับมีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบประวิงเวลา ไม่ยอมดำเนินการตามมติ ก.ตร. อ้างว่าต้องหารือประเด็นข้อกฎหมายกับกฤษฎีกาก่อน ทั้งที่คณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยแล้วว่า การดำเนินการตามมติ ก.ตร. เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลย การกระทำของจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติยศ เกียรติคุณ และสิทธิประโยชน์ต่างๆที่โจทก์พึงได้
อย่างไรก็ดี หลังศาลได้ตรวจพิเคราะห์คำฟ้องแล้ว เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลย ในฐานะนายกรัฐมนตรี กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้นที่มีอำนาจ พิพากษาได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 275 วรรคหนึ่ง ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดี